ประเด็นร้อน

ป.ป.ช.หว่านแหส่องทรัพย์สิน รายจ่ายธรรมาภิบาล ต้นทุน-ภาระจำยอม

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 08,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ - -

 

ฝุ่นตลบไปทั้งแวดวงข้าราชการ-ตุลาการ-อัยการ องค์กรอิสระและนักการเมือง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. …. โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61 เป็นต้นไป


เสียงจากผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียกับประกาศดังกล่าวออกมาสะท้อนทรรศนะแบบ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ต่อคำสั่ง-ประกาศ ป.ป.ช.ดังกล่าว ไปยัง “บิ๊กกุ่ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทบทวน ถึงขั้นจะเสนอให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข


โดยเฉพาะในรั้ววิชาการ-มหา’ลัย อธิการบดี-นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยออกมาขู่จะ “วอล์กเอาต์-ลาออก” จากสภามหาวิทยาลัย จนกังวลกันว่าจะนำไปสู่ “สุญญากาศ” ทางการศึกษา !


“มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่คร่ำหวอดอยู่ใน “วงจรคอร์รัปชั่น” กล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้-จำเป็น แต่ก็น่าเห็นใจ ป.ป.ช.


“ที่ผ่านมาสังคมไทยมีปัญหาโกงกินเยอะ กลายเป็นว่าเพื่อต้องการควบคุม เล่นงานคนโกงให้ได้ จึงต้องมีมาตรการออกมามากมาย แต่สุดท้ายแล้ว มาตรการดังกล่าวกลายเป็นต้นทุนของสังคม กลายเป็นภาระของคนดีไปด้วย”


“ตอนนี้มีหลายกลุ่ม ข้าราชการที่มองว่าเกินไป มีปัญหา คงต้องมาพูดคุยกัน แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่พูดถึงกันในหลาย ๆ แห่ง ก็มีปัญหา (การทุจริต) จริง ๆ”



ในทางปฏิบัติ (จริง) จะมีปัญหาหรือไม่ และอาจถึงขั้นมีคดีความติดตัวเป็นของแถม ในข้อหาบกพร่องโดยสุจริตหรือไม่ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า ใช่ครับ จึงต้องหารือกัน เพื่อจะลด-เพิ่มขั้นตอนใด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม


“สำคัญกว่านั้น เมื่อยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯไปแล้ว ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างที่ผ่านมา ยื่นไปแล้วไม่มีประโยชน์ ทำให้เกิดการฟอกตัว ดังนั้น ต้องตรวจสอบว่าที่ผ่านมามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือมีการถือทรัพย์สินแทนระหว่างดำรงตำแหน่ง (นอมินี) รวมถึงเทคนิคการฟอกเงินรูปแบบต่าง ๆ”


“ทางที่ดี ป.ป.ช.ควรมีมาตรการเสริมในการควบคุม หรือลดหย่อนความตึงในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เช่น การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อลดภาระในระยะเริ่มต้น แต่ในระยะยาว การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯเป็นเรื่องจำเป็น และในอนาคตต้องคิดว่าทุกคนต้องทำแบบนี้ให้เป็นเรื่องปกติ”


“อุดม เฟื่องฟุ้ง” นายกสภามหาวิทยาลัยธนบุรี อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาอาวุโสและอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า จะทำให้เกิดปัญหากับมหาวิทยาลัยของรัฐ จะไม่มีคนมาเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯยุ่งยากมาก เพราะต้องเก็บรายละเอียดทั้งหมด ถ้าลืมก็มีความผิดทางอาญา เป็นหลักคิดของข้าราชการส่วนใหญ่ 95% ออกกฎหมายเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ออกกฎหมาย และเป็นภาระต่อผู้ปฏิบัติ


“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตอยู่ที่ตัวบุคคลผู้ทำหน้าที่ ถ้ารู้จักถูก-ผิด ไม่มีปัญหา แต่สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทุกหน่วยงานของรัฐต่างคนต่างแสวงหารายได้เพิ่มของตนเอง ถูกบ้างผิดบ้างก็ว่ากันไป เมื่อทุกคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์แล้ว ความถูกต้องก็หายไป”


“การสร้างระบบเพื่อป้องกัน ต้องสร้างโดยคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าสร้างโดยคนมีส่วนได้ส่วนเสียก็สร้างเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ส่วนจะได้ผลหรือไม่ได้ผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”


“ถ้ากฎหมายที่ออกมาทำให้เกิดความเดือดร้อนเกินกว่าที่จะไปรับหน้าที่ เขาก็ไม่ไปรับหน้าที่ ปัญหาจะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา นายกและกรรมการสภาโดยหลักแล้วไม่มีหน้าที่บริหาร แต่มีโอกาสที่จะใช้ตำแหน่งโดยมิชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของคน ไม่ใช่เรื่องหลักการ”


“นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการทุจริตหรือไม่ ก็มี แล้วมีมากด้วย ที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วหรือเป็นคดีความก็มี แต่การวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างนี้ ต้องวางในตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับความรับผิดชอบในทางการเงิน”


ด้าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่คลุกคลีอยู่กับนักการเมือง-นักธุรกิจกล่าวว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จะเกิดการลาออกกันหมด และไม่มีใครอยากจะมาทำงานเพื่อบ้านเมือง


สำหรับตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ตามประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด กำหนดให้ข้าราชการระดับสูง ตุลาการ ผู้พิพากษา อัยการ ตลอดจนองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ อาทิ 1.ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองอื่น ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง


2.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3.องค์กรอิสระ 4.ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่และเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป 5.ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่และเทียบเท่าอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป 6.ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีขึ้นไป


7.ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน อาทิ หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ข้าราชการทหาร อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ


กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันพระปกเกล้า


นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐ 26 แห่ง นายกสภาและกรรมการสภาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ 14 แห่ง ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการนโยบายและผู้อำนวยการและผู้จัดการในองค์การมหาชน 55 แห่ง


คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะต้านทานกระแสต้าน-ยอมถอย

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw